WWOOFing Through the South of England—เส้นทางที่เลือกเดิน

ทั้งแพทช์และทาช่าเรียนจบทางด้านศิลปะมา พ่อของแพทช์มีอาชีพหลักเป็นจิตรกรวาดภาพแลนด์สเคป ส่วนทาช่านั้นทันทีที่เรียนจบก็ได้รับทุนทำงานศิลปะต่อจ...

ทั้งแพทช์และทาช่าเรียนจบทางด้านศิลปะมา พ่อของแพทช์มีอาชีพหลักเป็นจิตรกรวาดภาพแลนด์สเคป ส่วนทาช่านั้นทันทีที่เรียนจบก็ได้รับทุนทำงานศิลปะต่อจากมูลนิธิศิลปะอันดับหนึ่งของประเทศ ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมทั้งคู่ถึงเลือกที่จะทิ้งชีวิตของศิลปินไว้ด้านหลัง แล้วผันตัวเองมาทำฟาร์ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด

แถมยังเป็นการทำฟาร์มโดยไม่พึ่งน้ำประปาและกระแสไฟฟ้าจากบริษัทใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงแผงโซลาร์เซลล์อันใหญ่สองแผง รางน้ำฝนและแทงค์น้ำขนาดใหญ่เอาไว้เก็บน้ำเท่านั้น

“ฉันไม่เห็นว่าภาพวาดทั้งหลายจะทำให้มีอะไรดีขึ้นมา อีกทั้งสีที่ใช้วาดยังเต็มไปด้วยสารเคมี เดี๋ยวนี้ฉันสนใจศิลปะในแง่ที่เป็นทั้งความสวยงามและได้ใช้ประโยชน์จากมันได้ด้วยมากกว่า อย่างการคิดวางแผนว่าจะปลูกอะไรตรงไหน ให้ฟาร์มออกมาสวย เอาไม้มาแกะสลักเป็นช้อน หรือการเอาก้านของต้นหลิว (willow) มาสานเป็นตะกร้า”

“มันมีความสุขนะ เวลาที่มีคนมาซื้อ (น้ำซีบัคธอร์นสกัด) ของเราไป เหมือนเราได้ให้สิ่งดีๆ มีประโยชน์กับผู้อื่น” ทาช่าเสริม พูดถึงน้ำซีบัคธอร์นสกัดที่เป็นหนึ่งในรายได้หลักของฟาร์ม


นอกจากงานที่ Little Brympton แล้ว ทาช่ายังทำธุรกิจ catering ที่เธอเปลี่ยนให้มันกลายมาเป็นสหกรณ์ร่วมกับเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่ง ทำอาหารให้ตั้งแต่งานแต่งงานไปจนถึงทีมงานที่จัดเตรียมเทศกาลต่างๆ ในช่วงหน้าร้อน อย่าง Buddhafield หรืองานใหญ่ชื่อดังระดับโลกอย่าง Glastonbury แล้วก็ยังมีคาเฟ่ที่ขายเค้กเผื่อสุขภาพ และเค้กสำหรับคนที่แพ้นู่นแพ้นี่ โดยในการทำอาหารทุกครั้ง เธอจะเลือกใช้แต่วัตถุดิบออแกร์นิค แฟร์เทรด พยายามทำทุกอย่างให้ ethical มากที่สุด และตั้งราคาขายให้ต่ำที่สุด ยอมได้กำไรน้อยกว่าร้านอื่นๆ เพื่อที่อาหารดีๆ เหล่านี้จะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ที่ทำอย่างนี้ได้ก็เพราะไลฟ์สไตล์ในแบบที่เธอและครอบครัวเลือกที่จะเดินตามนั่นเอง

แต่ก็ไม่ใช้ว่าการใช้ชีวิตแบบนี้จะราบรื่นเสมอไป พวกเขาเลือกที่จะอุทิศความสะดวกสบายหลายๆ อย่างที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนทั่วไป อย่างเครื่องล้างจาน การอาบน้ำอุ่นทันทีเมื่ออยากอาบ ไม่ต้องมารอให้น้ำร้อนจากเตาเผาถ่านเกือบสามชั่วโมง ไม่มีทีวี มีแต่สัญญาณโทรศัพท์ที่ติดๆ ดับๆ เท่านั้น


ช่วงหน้าร้อน แม้จะมีแดดดี มีกระแสไฟฟ้าพอที่จะชาร์จแบตโทรศัพท์ได้บ่อยๆ ทำสมูทตี้กิน หรือเอาเครื่องทำไอศครีมออกมาทำไอติมกินได้ แต่บางครั้งเมื่อฝนไม่ตกต่อเนื่องกันหลายวัน น้ำในแทงค์ที่เก็บไว้ใกล้หมด จะอาบน้ำ หรือแม้แต่ล้างจาน ก็ต้องประหยัดที่สุด ถ้าเป็นหน้าหนาว ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ แต่ไฟฟ้านั้นอีกเรื่องเลย ช่วงนั้นพระอาทิตย์ขึ้นเก้าโมง ตกสี่โมงเย็น บางวันไฟหมดก็อยู่กันอย่างมืดๆ นั่นแหละ อาศัยจุดเทียนเอา ส่วนฮีตเตอร์ไม่มีมาเปิดปิดสั่งได้ ต้องก่อไฟเอาพลังงานความร้อนจากฟืนมาเป็นฮีตเตอร์ รักษาไฟเอาไว้ทั้งคืนไม่ให้มอด แล้วยังต้องคอยผ่าฟืนอีก

ไม่มีอะไรที่จะได้มามือเปล่าหรอก แค่สิ่งที่ได้กลับมามันมีค่ามากว่าสิ่งที่เสียไปก็โอเคแล้ว

You Might Also Like

0 comments

Flickr Images