EAT Sicily — กินอะไรในซิซิลี

ตอนอยู่อิตาลี เวลาไปไหนมาไหน แล้วบอกผู้คนที่เจอว่าชอบกิน ชอบลองอาหารท้องถิ่น ใครก็บอกว่าฉันต้องไปซิซิลี เพราะอาหารที่นู่นนั้น คือที่สุดข...



ตอนอยู่อิตาลี เวลาไปไหนมาไหน แล้วบอกผู้คนที่เจอว่าชอบกิน ชอบลองอาหารท้องถิ่น ใครก็บอกว่าฉันต้องไปซิซิลี เพราะอาหารที่นู่นนั้น คือที่สุดของอาหารอิตาลีแล้ว ผักผลไม้ที่สดกว่าภาคอื่นๆ น้ำมันมะกอกรสชาติเยี่ยม อาหารทะเล ชีส เนื้อสัตว์ คือมีครบเลยจริงๆ

ได้ยินเข้าบ่อยๆ คนขี้สงสัยอย่างฉันจะไม่ไปลองได้อย่างไรล่ะช่วง ซัมเมอร์เลยถือโอกาสหนีอากาศร้อนอบอ้าวในเมือง ไปรับลมเย็นริมทะเล และทัวร์กินอาหารท้องถิ่นของเกาะซิซิลีไปด้วยเลย



อาหารของซิซิลีนั้น เป็นอาหารอิตาเลียนที่ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งแอฟริกา (ที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่ชั่วโมง) กรีซ สเปน และชาวอาหรับ จึงทำให้มีเครื่องเทศและเครื่องปรุงแปลกๆ ไม่เหมือนภาคอื่นๆ ของอิตาลี เห็นได้ชัดในอาหารคาว อย่างการใช้ซินนามอน ลูกจันท์ หญ้าฝรั่น มาประกอบอาหาร ไปจนถึงใช้ลูกเกดในอาหารคาว ทั้งหมดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอาหรับที่เคยปกครองซิซิลีมากว่าสองร้อยปีนั่นเอง


ข้าวเช้าของคนอิตาลีส่วนมากคือกาแฟหนึ่งแก้ว (หรือเอสเปรสโซ่หนึ่งช็อต) กับขนมชิ้นเล็กๆ พวกครัวซองไส้ครีมหรือช็อคโกแลต กินข้าวเช้าเหมือนมื้อสายบ้านเรา บนเกาะซิซิลีนั้นมีตัวเลือกสำหรับมื้อช้าวอีกอย่าง ที่น่าจะอยู่ท้องกว่าครัวซองเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเพราะมันเต็มไปด้วยน้ำตาล ไม่ต่างจากน้ำแข็งไสหรือบิงซูเท่าไหร่นัก มันคือเจ้ากรานิต้า (granita) นั่นเอง เป็นลูกครึ่งระหว่างไอติมแบบซอร์เบต์ไร้นม กับน้ำผลไม้ปั่น เกล็ดน้ำแข็งเล็กๆ เนียนละเอียด กินแล้วชื่นใจ และไม่ได้มีแต่รสผลไม้เท่านั้น รสกาแฟและอัลมอนด์คือรสคลาสสิค ส่วนรสโปรดของฉันคือพิสตาชิโอ้นั่นเอง คนที่นี่มักจะกินกรานิต้ากับขนมปังบริยอชนุ่มหอมเนย ฉีกขนมปังออกมาแล้วเอาไปจุ่มในกรานิตาให้ชุ่มฉ่ำ ยิ่งช่วงหน้าร้อนยิ่งชื่นใจ มีรสผลไม้สดมากมาย ตั้งแต่แตงโม แคนตาลูป ลูกมะเดื่อ (figs) และเบอร์รี่ชนิดต่างๆ ส่วนหน้าหนาวก็มีรสผลไม้ตระกูลส้ม ทั้งแมนดาริน เกรปฟรุ้ต หรือส้มสีเลือด blood orange ยกมากั้นทั้งตระกูล

อย่างน้อยมื้อเช้าสักมื้อ อย่าพลาดลองไปกินน้ำแข็งไสสไตล์อิตาลีเป็นมื้อเช้าตามบาร์ต่างๆ กันดูล่ะ


แปลตรงตัวว่านมอัลมอนด์ ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเครื่องดื่มชนิดนี้ ก็คิดในใจว่านี่เครื่องดื่มสุดเทรนดี้ในหมู่คนรักสุขภาพสมัยนี้เป็นเครื่องดื่มท้องถิ่นของอิตาลีตอนใต้หรอเนี่ย แต่พอได้ลองชิมแล้วก็เข้าใจว่า อ้อ มันคนละอย่างกันเลยจ้า

นมอัลมอนด์ที่เป็นของขึ้นชื่อของซิซิลี และทางตอนใต้ของอิตาลีนั้น ทำมาจากอัลมอนด์เพส (pasta di mandorla) ซึ่งคืออัลมอนด์กับน้ำเชื่อม คล้ายๆ มาร์ซิพานนั่นแหละ เวลาจะทำนมอัลมอนด์ก็เอาเจ้าอัลมอนด์เพสต์นี้มาผสมกับน้ำ ออกมาเป็นนมรสหวานที่มีกลิ่นอัลมอนด์ชัดเจน ส่วนตัวแล้วฉันไม่ชอบกลิ่นและรสชาติของมาร์ซิพานเท่าไหร่ อัลมอนด์อบนั้นกินเล่นได้ไม่หยุด แต่พอเป็นมาร์ซิพานแล้วกลิ่นไม่ถูกจริตฉันเอาซะเลย เอาเป็นว่าของแบบนี้ชอบใครชอบมันเนอะ



สตรีทฟู้ดชื่อดังอันดับหนึ่งของซิซิลี คงหนีไม่พ้นเข้าริซอตโต้ก้อนกลมๆ ทอดกรอบนามว่าอารันชินี่ (aracini) อารันชินี่นั้นก็เหมือนพาสต้าหรือพิซซ่า คือมีหลายรสชาติให้เลือกตามชอบ แต่รสคลาสสิคที่มีให้เลือกซื้ออยู่ตลอดคืออารันชินี่ใส่ซอสเนื้อรากู (ragù) นั่นเอง อารันชินี่นั้นหากินได้ทั่วไปตั้งแต่ตามบาร์คาเฟ่ แคนทีนในสถานีรถไฟ ไปจนถึงในร้านอาหาร สำหรับฉันแล้วอารันชินี่ต้องกินร้อนๆ แบบเพิ่งทอดเสร็จใหม่ๆ ขนาดชิ้นไม่ใหญ่จนเกิดไป เวลากัดเข้าไปจะได้ทั้งข้าว ไส้ด้านใน และความกรอบของเกล็ดขนมปังที่เคลือบอยู่รอบๆ ในคำเดียว


หลายคนเรียกเจ้าซฟินโชเน่ (Sfincione) ว่าพิซซ่าสไตล์ซิซิลี สำหรับฉันมันเหมือนลูกครึ่งระหว่างพิซซ่าและฟอคคาเชียมากกว่า เพราะแป้งที่หน้านุ่มคล้ายฟอคคาเชียแต่หน้าซอสมะเขือเทศ แอนโชวี่และชีสนมแพะเพคอริโน (Pecorino) สไตล์พิซซ่า เป็นสตรีทฟู้ดอีกอย่างที่หากินได้ทั่วไปตามท้องถนนและเบเกอรี่ จะเป็นที่นิยมมากกว่าแถบอื่นหน่อยก็คงจะเป็นแถวๆ เมืองพาแลร์โม (Palermo) นั่นเอง


สคัคเช (scacce) เป็นภาษาท้องถิ่นของแถบจังหวัดรากูซา (Ragusa) ของคำว่าฟอคคาเชียนั่นเอง แต่เจ้าสคัคเชนั้นหน้าตาไม่เหมือนฟอคคาเชียหรอกนะ ดันไปละม้ายคล้ายสตรูเดิ้ล (strudle) ต่างหากล่ะ สตรีทฟู้ดจานนี้หากินได้เฉพาะแถบเมืองรากูซาและโมดิกา (Modica) เท่านั้น ไส้คลาสสิคก็มีทั้งริคอตต้าชีสกับหัวหอม มะเขือเทศ พาร์สลีย์ กับชีสนมแพะ มะเขือเทศกับมะเขือม่วง และอื่นๆ อีกมากมายตามแต่พ่อครัวแม่ครัวจะสร้างสรรออกมา จะทำกินเองที่บ้านก็ไม่ยากจนเกินไป กินร้อนก็ได้ กินเย็นก็อร่อย เป็นคอมฟอร์ทฟู้ดที่ถูกใจฉันสุดๆ ไปเลยล่ะ


พาเนลล่า (panella) คือแป้งถั่วชิกพีผสมกับน้ำ ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย และพาร์สลีย์ หั่นเป็นแผ่นบางๆ แล้วเอาไปทอดกรอบ เป็นสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อของพาแลร์โมที่นิยมกันกับขนมปังโดยใช้เจ้าพาเนลล่านี้เป็นไส้นั่นเอง คนอิตาลี โดยเฉพาะในแถบตอนใต้ของประเทศ นิยมกินของทอดกันมาก ทำให้ฉันนึกถึงอาหารไทย ลูกชิ้นทอด กล้วยทอด ไอติมทอด อยู่เนืองๆ


คาโนลี่ (cannoli) คือขนมโปรดของฉันในซิซิลี กับอิแค่โคนแป้งทอดกรอบสอดไส้ริคอตต้าชีสนี่มันจะอร่อยได้สักแค่ไหนกัน? แต่อิตาลีก็แบบนี้แหละ อาหารที่ดูธรรมดาแต่ถ้าจะทำให้อร่อยวัตถุดิบต้องดี อย่างริคอตต้าเนี่ยต้องเป็นริคอตต้านมแพะ เพราะมีความครีมมี่มากกว่าริคอตต้าชนิด อื่นๆ แถมริคอตต้ายังต้องสดใหม่ที่สุด ใครไปซิซิลีหน้าร้อนอาจจะหากินยากหน่อย เพราะอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงฟาร์มเล็กๆ หลายแห่งจะหยุดทำซอฟต์ชีสแบบนี้ คนขายริคอตต้าที่ซิซิลีบอกว่าช่วงที่ริคอตต้าอร่อยที่สุดคือฤดูใบไม้ผลิจ้ะ และคาโนลี่ที่อร่อยคนขายจะใส่ไส้ครีมต่อเมื่อเราสั่งเท่านั้น ไม่ใส่แล้ววางโชว์ทิ้งไว้ เผื่อคงความกรอบของตัวโคนนั่นเอง

แค่คิดถึงคาโนลี่ก็น้ำลายไหลอีกแล้ว...


คาสซาเตลล่า (Cassatella) หรือราวิโอลี่ไส้หวาน เป็นชื่อเรียกขนมครึ่งวงกลมที่นิยมทำกันเป็นพิเศษช่วงงานคาร์นิวาลในเดือนกุมภาพันธ์ โดยแต่ละจังหวัดจะทำไม่เหมือนกัน ที่เห็นส่วนมากจะเป็นไส้ริคอตต้าและชอคโกแลตขูด แล้วเอาไปทอดกรอบ แต่ที่ฉันได้ลองชิมนั้นเป็นเวอร์ชั่นจากเมืองอะจีรา (Agira) ไส้ช็อคโกแลตกับอัลมอนด์ แล้วใช้วิธีอบแทนทอดกรอบ

ขนมหน้าตาละม้ายคล้ายกันที่มาจากเมืองโมดิก้า มีชื่อเรียกยากว่าพานาทิกกิ (‘mpanatigghi) แตกต่างจากเวอร์ชั่นของเมืออะจีราตรงไส้ ที่ผสมเนื้อวัวบดเข้าไปด้วย! ขอคอนเฟิร์มว่ามันยังเป็นของหวานอยู่นะ เวลากินก็ไม่ได้รสชาติเนื้อแต่อย่างได้ ตำนานเขาเล่ามาว่าเนื่องจากช่วงถือศีลอด 40 วันก่อนวันอีสเตอร์ นักบวชห้ามกินเนื้อสัตว์ แม่ชีที่ทำขนมเลยคิดวิธีเอาเนื้อวัวมาซ่อนไว้ในเจ้าคุ้กกี้สอดไส้ช็อคโกแลตชิ้นนี้ซะเลย บ้างก็ว่านี่เป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง

ลองไม่บอกคนชิมดูว่ามีเนื้ออยู่ข้างในก็คงกินได้อย่างเพลินๆ แต่หลายคนพอรู้แล้วจะไม่กล้ากินกัน แต่ขอคอนเฟิร์มอีกครั้งว่าไม่มีรสชาติเนื้อจริงๆ เหมือนของหวานทั่วไปนั่นแหละ ของแปลกๆ อย่างนี้ลองชิมสักคำก็ดี คุ้กกี้ผสมเนื้อไม่ได้หากินกันได้ทั่วไปนะเออ


เมืองเล็กๆ อย่างโมดิก้า (Modica) นั้นผลิตชอคโกแลตที่ขึ้นชื่อของเกาะซิซิลี ชอคโกแลตสไตล์โมดิก้านั้นแตกต่างจากชอคโกแลตทั่วไปอย่างไรน่ะหรือ? ปกติแล้ว ชอคโกแลตบาร์จะมีเนื้อที่เรียบเนียม น้ำตาลละลายเข้าไปในตัวชอคโกแลตเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ชอคโกแลตของโมดิก้านั้นเป็นชอคโกแลตที่มีวิธีการทำแบบโบราญ คือไม่ได้ละลายน้ำตาลเข้าไปกับตัวเนื้อชอคโกแลต แต่ผสมกันเฉยๆ ทำให้เวลากินชอคโกแลตไปนี้ จะได้เนื้อสัมผัสกรุบกรอบของน้ำตาลด้วย บางยี่ห้อใช้น้ำตาลเม็ดใหญ่ บางยี่ห้อเม็ดเล็ก ระดับความกรุบกรอบก็แตกต่างกันออกไป ฉันได้ไปลองชิมชอคโกแลตของโมดิกามาหลายยี่ห้อมาก (คือกินกันจนเจ็บเพดานปากเลยทีเดียว) ยี่ห้อโปรดของฉันคือ Donna Elvira ที่ทำบาร์แบบซิงเกิ้ลออริจินด้วย อย่างชอคโกแชตจากเปรูที่ร้านนี้ทำมีอยู่สามบาร์ มาจากสามฟาร์มในเปรู รสชาติของชอคโกแลตนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยทีเดียว

อีกร้านที่อร่อยเหมือนกันคือ Sabadi เป็นชอคโกแลตที่ค่อยข้างไฮโซราคาแพงไม่น้อย รสชาติโปรดของยี่ห้อนี้คือรสเกลือทะเล เพราะตัวชอคโกแชตนั้นขมได้ใจที่ 85% ซึ่งไม่ได้หากินกันง่ายๆ เลย

Bonajuto อาจจะเป็นร้านชอคโกแชตที่ขึ้นชื่อที่สุดในเมือง ราคาไม่แพงมาก ชอคโกแลตรสชาติดี มีหลายรสให้เลือก แบบซิงเกิ้ลออริจินหรือขมสุดๆ ที่ 100% เต็มก็มีเหมือนกัน

พล่ามเรื่องชอคโกแลตมาเยอะขนาดนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้นะว่าว่าบ้าชอคโกแลตแค่ไหน มีการเก็บบันทุกรสชาติของชอคโกแลตยี่ห้อต่างๆ ไว้ในอินสตาแกรมอีกต่างหาก เอากับมันสิจ๊ะ


คารอบ (carob) เป็นอาหารเสริมของคนรักสุขภาพที่กำลังมาแรงไม่น้อย ด้วยรสชาติที่คล้ายชอคโกแลตแต่ไม่มีคาเฟอีน ไขมัน แค่มีแคลเซียมสูงและมีความหวานธรรมชาติ ส่วนตัวฉันแล้ว ผงคารอบที่ขายตามร้านอาหารเพื่อสุขภาพนั้นกลิ่นแปลกๆ ยังไงชอบกล แต่พอได้ไปลองอยู่ฟาร์มที่ปลูกคารอบในซิซิลีช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพอดี เลยได้แทะฝักคารอบกินสดๆ จากต้นจนติดใจ ยิ่งฝักที่อวบๆ เนื้อหวานเหนียวคล้ายทอฟฟี่ ตอนอยู่ฟาร์มเจ้าฝักแห้งๆ สี้น้ำตาลคล้ายถั่วนั้นกลายเป็นขนมหวานโปรดของฉันไปเลยทีเดียว


ถั่วพิสตาชิโอสีเขียวสดใสนั้นไม่ได้มีแค่ในซิซิลี แต่พิสตาชิโอของซิซิลี โดยเฉพาะที่มาจากเมืองบรอนเต้ หลังภูเขาไฟเอทน่านั้น ขึ้นชื่อว่าคุณภาพดี แบบรสชาติมันพิสตาชิโอ๊ พิสตาชิโอ อันเนื่องมาจากปลูกใกล้กับภูเขาไฟ และดินจากภูเขาไฟนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากนั่นเอง

สำหรับฉันแล้ว พิสตาชิโอที่มาจากบรอนเต้ไม่ได้อร่อยไปกว่าที่อื่นแต่อย่างใด สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่คุณภาพมากกว่า พิสตาชิโอจากซิซิลีที่ราคาถูกๆ บางครั้งยังสู้พิสตาชิโอจากหรีซไม่ได้เลย

เวลาอยู่ซิซิลี เลยเห็นอะไรเป็นรสพิสตาชิโอไปหมด ผลิตภัณฑ์โปรดที่ทำจากพิสตาชิโอ และหาซื้อได้ยากในภาคอื่นๆ ของอิตาลี คือพิสตาชิโอเพสโต้ ที่ส่วนผสมมีแค่ถั่วพิสตาชิโอ น้ำมันมะกอก และเกลือเท่านั้น เอามาเป็นซอสพาสต้า หรือทำบรุสเกตต้ากินกับมะเขือเทศ นี่แหละคืออาหารจานโปรดของฉันแบบไม่มีคู่แข่งเลย


ส้มสีเลือด หรือบลัดออเร้นจ์ เป็นผลผลิตขึ้นชื่อของซิซิลี ที่ส่งไปขายทั่วอิตาลี (และยุโรป) โดยส้มสีเลือดนั้นมีอยู่สามสายพันธุ์หลักๆ คือโมโร ทารอคโค และซางกวิเนลโล่ เรื่องลำดับจากแดงมากไปแดงน้อย ขมมากไปขมน้อย สายพันธ์ทารอคโคกับซางกวิเนลโล่จะหากินง่ายหน่อย แต่ฉันชอบทารอคโคมากกว่าเพราะสีมันแดงสะใจดี แถมยังไม่มีเมล็ดอีกต่างหาก

บลัดออเร้นจ์นั้น แม้จะขึ้นชื่อว่ามาจากเกาะซิซิลี แต่จริงๆ แล้วปลูกกันแค่ฝั่งตะวันออกของเกาะเท่านั้น เพราะดินจากขี้เถ้าภูเขาไฟเอทน่าที่อุดมสมบูรณ์นั่นเอง (อยู่ใกล้ๆ ภูเขาไฟนี่ก็ดีเหมือนกันเนอะ ถั่วพิสตาชิโอก็อร่อย ส้มก็อร่อย)

ฤดูส้มของอิตาลีนั้นคือช่วงหน้าหนาว ประมาณเดือนธันวาคมเป็นต้นไป จนถึงมีนาหรือเมษา ใครไปเที่ยวหน้าร้อนแล้วจะถามหาบลัดออเรนจ์อาจจะต้องผิดหวังนะ


เจ้าผลไม้หน้าตาแปลกประหลาดนี้ เกิดมาฉันเพิ่งเคยเห็นทางต้อนใต้ของอิตาลีเป็นครั้งแรก คนที่นี่เรียกว่ามะเดื่ออินเดีย (fichi d’India) ส่วนชื่อภาษาอังกฤษคือ barbary figs หรือ prickly pears จะเรียกอะไรก็เรียกไป ง่ายๆ ว่ามันคือผลไม้ของต้นกระบองเพชรนั่นเอง เนื่องจากมีหนามอยู่รอบตัว เวลาจะเก็บเกี่ยวก็ต้องใช้กระชอนสอยลงมา เวลาจะปลอกก็ต้องระวัง เอาหนามออกให้หมดก่อน

ผลกระบองเพชรที่เห็นหลักๆ นั้นมีสองสี คือสีเหลืองและสีบานเย็นเหมือนบีทรู้ท พอปลอกเปลือกออกมาแล้วเนื้อด้านในคล้ายๆ แก้วมังกร แต่มีรสหวานชัดเจนกว่า และมีเมล็ดใหญ่ๆ เหมือนเสาวรส ถามว่ารสชาติความอร่อยนั้นคุ้มกับความยากลำบากในการกินรึเปล่า ส่วนตัวแล้วฉันว่าไม่ ถือซะว่าลองของแปลก ครั้งเดียวพอ ผลไม้อร่อยๆ อย่างอื่นมีให้กินอีกเยอะแยะ


ที่เล่ามานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของอาหารอร่อยๆ ในซิซิลีเท่านั้น บนเกาะแห่งนี้ยังมีพาสต้าเฉพาะถิ่น อาหารทะเลสดๆ ชีส แฮม ไวน์ ที่อาจจะต้องตามมาอีกสองสามโพสต์ แต่ก่อนอื่นฉันคงจะต้องกลับไปเยี่ยม (และชิม) ซิซิลีอีกครั้ง แล้วค่อยมาเล่าให้ฟังกันอีกรอบนะ ว่าเกาะนี้ยังมีอะไรอร่อยๆ มากินอีกบ้าง


You Might Also Like

1 comments

  1. กำลังจะไปพอดี อ่านแล้วดีมากเลยค่ะ :)

    ReplyDelete

Flickr Images